ประวัติความเป็นมา

19 มีนาคม 2567 (ผู้ดูแลระบบ) เกี่ยวกับหน่วยงาน

ปี พ. ศ. 2549
           ในปีการศึกษา 2549 สาขาวิชาคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและการเกษตร โดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ธนากร ปามุทา หัวหน้าภาควิชาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ และ อาจารย์สุนิตย์ โรจนสุวรรณ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร ร่วมกับ ศูนย์คอมพิวเตอร์ จัดให้มีโครงการอบรมปฏิบัติการ เรื่อง การพัฒนาห้องเรียนเสมือน (Virtual Classroom) ในระบบอีเลิร์นนิ่งด้วย Moodle LMS เมื่อวันที่ 2-3 สิงหาคม 2549 โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นิพนธ์ บาดกลาง รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดการอบรม มีผู้เข้าอบรม คือ คณาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ฯ และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจากต่างคณะบางส่วน โดยมีวิทยากรหลักในการบรรยายและปฏิบัติการคือ อาจารย์ศิริชัย นามบุรี และ อาจารย์อัจฉราพร ยกขุน แนะนำให้คณาจารย์ใช้ระบบบริหารจัดการการเรียนรู้แบบอีเลิร์นนิ่ง โดยเลือกใช้ระบบบริหารจัดการการเรียนรู้คือ Moodle LMS (www.moodle.org)
หลังจัดการอบรม มีอาจารย์บางส่วน ได้ทำการทดลองสอนบางรายวิชา เช่น อาจารย์ศิริชัย นามบุรี อาจารย์จรัญ พิทักษ์ธรรม อาจารย์อัจฉราพร ยกขุน อาจารย์ซอและ เกปัน เป็นผู้สอนหลัก ผลการจัดการเรียนการสอนพบปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญ คือ เครื่องแม่ข่ายของคณะวิทยาศาสตร์ฯ ที่นำมาทดลองใช้งานไม่สามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนที่มีผู้เรียนเข้าใช้ระบบพร้อมกันจำนวนมากได้ เพราะเครื่องแม่ข่ายมีประสิทธิภาพต่ำและมีความจุฮาร์ดดิสก์น้อย จึงจำเป็นต้องจัดหาเครื่องแม่ข่ายใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูง
         หลังจากจัดการอบรมโดยได้ทดลองจัดตั้งระบบบริหารจัดการการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งเพื่อให้บริการแก่คณาจารย์ที่เว็บไซต์ http://science.yru.ac.th/elearning ซึ่งเป็นเครื่องแม่ข่าย (Server) ของคณะวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อให้คณาจารย์ที่ผ่านการอบรมได้ทดลองใช้ระบบ YRU-LMS ทำการเรียนการสอนในปีการศึกษา 2549-2550

ปี พ. ศ. 2550
          ระบบ e-Learning YRU ติดตั้งระบบปฏิบัติการ FreeBSD รุ่น 6.2 ระบบฐานบริหารจัดการฐานข้อมูล MySQL และทดสอบเครื่องแม่ข่าย (Sever) เรียบร้อยแล้ว จึงติดตั้งระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ Moole รุ่น 1.82 เพื่อให้บริการจัดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งแทนระบบ YRU-LMS เดิม (ซึงมีปัญหาความจุฮาร์ดดิสก์ต่ำ, หน่วยความจำน้อย) ผลการทดลองใช้ (อาจารย์ศิริชัย นามบุรี) จัดการเรียนการสอนนักศึกษาพร้อม ๆ กัน 85 คน พบว่าสามารถรองรับการจัดการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งได้จริง สามารถจัดการสอบออนไลน์ได้ มีอาจารย์ที่ใช้ระบ e-Learning YRU ร่วมทดสอบจัดการเรียนการสอนหลายท่าน เช่น อาจารย์จรัญ พิทักษ์ธรรม, อาจารย์ซอและ เกปัน เป็นต้น

           งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร (หน่วยพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอีเลร์นนิ่ง) จัดให้มีโครงการจัดหาเครื่องแม่ข่ายประสิทธิภาพสูง เพื่อรองรับการพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัย ด้วยงบประมาณ กศ.บป. จำนวน 160,000 บาท จัดซื้อ[้http://e-learning.yru.ac.th คอมพิวเตอร์แม่ข่าย IBM Server รุ่น X3600] พร้อมกับสนับสนับสนุนบุคลากรในงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร เข้าเรียนในหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้เชี่ยวชาญอีเลิร์นนิ่ง กับมหาวิทยาลัยไซเบอร์ไทย (http://www.thaicyberu.go.th) ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาหรือ สกอ. (http://www.mua.go.th)

ปี พ. ศ. 2551
           งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร (หน่วยพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอีเลร์นนิ่ง) จัดให้มีโครงการ "นำร่องพัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งในระบบ e-Learning YRU" โดยมีเป้าหมายรายวิชานำร่องสำหรับจัดการเรียนการสอนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง ในลักษณะเสริมการเรียนการสอนปกติ จำนวนไม่น้อยกว่า 20 รายวิชา (ภาควิชาละ 2 รายวิชา) โดยผลิตเนื้อหาประเภทเชิงโต้ตอบแบบประหยัด รายวิชาละไม่น้อยกว่า 1 หน่วยการเรียน จัดกิจกรรมการเรียนการสอนในภาคเรียนที่ 1 และ 2 ปีการศึกษา 2551 โดยจะดำเนินการติดตามประเมินผลการใช้ระบบ e-Learning จากผู้สอน และประเมินความพึงพอใจของผู้เรียนในระบบอีเลิร์นนิ่ง เพือรวบรวมข้อมูลนำเสนอมหาวิทยาลัยเพื่อให้สนับสนุนการนำระบบอีเลิร์นนิ่งมาใช้จัดการเรียนการสอนอย่างจริงจังต่อไป

ปี พ. ศ. 2552
          งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร (หน่วยพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอีเลร์นนิ่ง) จัดให้มีโครงการ "พัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งในระบบ e-Learning YRU" โดยมีเป้าหมายในการให้ทุนสนับสนุนการพัฒนารายวิชาที่สอนในระบบอีเลิร์นนิ่งขั้นต้น จำนวน 15 รายวิชา (รายวิชาละ 1 หน่วยการเรียน) และ ให้ทุนสนับสนุนในรายวิชาเดิมที่สอนในระบบอีิเลิร์นนิ่ง ต้องการพัฒนาสื่อบทเรียนอีเลิร์นนิ่งแบบมัลติมีเดีย จำนวน 15 รายวิชา (รายวิชาละ 1 หน่วยการเรียน)

ปี พ. ศ. 2553
           หน่วยพัฒนาสื่ออิเล็กทรอนิกส์และอีเลิร์นนิ่ง งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการบริหาร ศูนย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งขึ้นตรงกับสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โอนภารกิจและความรับผิดชอบด้านการพัฒนาและดูแลระบบอีเลิร์นนิ่ง EL-YRU ให้แก่ งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ภายใต้การกำกับของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์สุพร สุนทรนนท์ ผู้อำนวยการการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ และ รองศาสตราจารย์ทวีศักดิ์ ทิพย์รอด รองผู้อำนวยการฯ กำกับดูแลงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา โดยมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน คือ นายวินัย แคสนั่น และนายธนภัทร นาคิน เปิดให้บริการ ณ ศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักวิทยบริการฯ ชั้น 6 (ติดต่อหมายเลขโทรศัพท์ 073-227151 ต่อ 4418,4405 หรือ 073-227165)
นอกจากนั้น การพัฒนาการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา  ยังมีโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดย อาจารย์ ดร.ศิริชัย นามบุรี 
ได้พัฒนาระบบการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งโดยใช้ Moodle LMS version 1.9.4 ทำการทดลองจัดการเรียนการสอนแบบผสมผสาน (Blended Learning)
ระหว่างชั้นเรียนปกติและชั้นเรียนอีเลิร์นนิ่ง โดยเน้นการทำกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านระบบอีเลิร์นนิ่ง รวบรวมคะแนนกิจกรรมและคะแนนสอบระหว่างเรียนนำไปใช้ในการ
ประเมินผลร่วมกับการสอนปลายภาค (ในระบบออนไลน์ผ่านอีเลิร์นนิ่ง) โดยจัดการเรียนการสอนที่เว็บไซต์ http://e-learning.yru.ac.th/eres 

ปี พ.ศ. 2554
          งานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ศูนย์บรรณสารสนเทศ สำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ โดย รศ.ทวีศักดิ์ ทิพย์รอด รองผู้อำนวยการ จัดให้มีการอบรมอาจารย์ จากทุกคณะ จำนวน 20 คน ในหลักสูตรการพัฒนาบทเรียนและการจัดการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นนิ่งเบื้องต้น ระหว่างวันที่ 18-19 มกราคม 2554 โดยมี ดร.ศิริชัย นามบุรี และ รศ.ทวีศักดิ์ ทิพย์รอด ร่วมกันเป็นวิทยากร พร้อมด้วยคุณวินัย แคสนั่น และคุณธนภัทร นาคิน เป็นผู้ช่วยวิทยากร ทั้งนี้โดยมีเป้าหมายหลักคือส่งเสริมให้อาจารย์ที่ยังไม่มีประสบการณ์จัดการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง ได้รับความรู้และทักษะการจัดการเรียนการสอนในระบบ EL-YRU

ปี พ.ศ. 2557
          มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาการเรียนรู้ในระบบอีเลิร์นนิ่ง โดยได้กำหนดตัวบ่งชี้ประเมินความสำเร็จไว้ในแผนปฏิบัติงานประจำปี พ.ศ. 2557 ในยุทธศาสตร์พัฒนาคุณภาพการศึกษา คือกำหนดตัวชี้วัดไว้ว่า อาจารย์ร้อยละ 50 มีรายวิชาสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง ดังนั้น คณะผู้บริหารงานของมหาวิทยาลัย ซึ่งนำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สมบัติ โยธาทิพย์ และรองอธิการบดีที่กำกับดูแลด้านไอซีที โดย ดร.ศิริชัย นามบุรี รองอธิการบดีฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศ อาจารย์ปรีชา พังสุบรรณ ผู้อำนวยการสำนักวิทยบริการและเทคโนโลยีสารสนเทศ นายวรภัทร สุทธิศรี ผู้อำนวยการศูนย์คอมพิวเตอร์ ได้ร่วมกันพิจารณาแนวทางในการขับเคลื่อนเป้าหมายดังกล่าว ดังนี้
ปรับหน่วยงานสนับสนุนให้รองรับการขับเคลื่อนตัวชี้วัดและเป้าหมายข้างต้น โดยการปรับงานเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา ให้ย้ายมาอยู่ภายในการกำกับของศูนยคอมพิวเตอร์ เพื่อประสานกับงานเทคโนโลยีสารสนเทศ และงานระบบเครือข่ายในการดำเนินงานด้านเทคนิคได้สะดวก ซึ่งเดิมอยู่ภายใต้การกำกับศูนย์บรรณสารสนเทศ โดยมีบุคลากรคือ คุณรัตนราภรณ์ ศรีหาพล นักวิชาการคอมพิวเตอร์ และคุณธนภัทร นาคิน เจ้าหน้าที่โสตทัศนูปกรณ์ เป็นผู้รับผิดชอบในการสนับสนุนการดำเนินงานงานดังกล่าว
            แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาอีเลิร์นนิ่งของมหาวิทยาลัยจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และจัดตั้้ง "[ศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรีนนรู้โดยใช้ไอซีที http://elearning.yru.ac.th]" เป็นศูนย์เพื่อขับเคลื่อนและดำเนินงานพิเศษเร่งด่วนด้านการพัฒนาระบบบริหารจัดการการเรียนรู้ การพัฒนาคณาจารย์ การพัฒนานักศึกษาในการใช้ระบบอีเลิร์นนิ่งเพื่อการเรียนรู้ ซึ่งมหาวิทยาลัยฯ เลือกใช้ Moodle รุ่นใหม่ 2.8 ในการบริหารจัดการระบบอีเลิร์นนิ่ง สำนักงานตั้งอยู่ที่ชั้น 6 อาคารสำนักวิทยบริการ ต่อมาเดือนสิงหาคม 2557 ย้ายสำนักงานมาอยู่ชั้น 2 อาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ (อาคาร 25) เพื่อให้บริการได้สะดวกยิ่งขึ้น
มหาวิทยาลัยฯ โดยงานเทคโนโลยีการศึกษา จัดให้มีโครงการ "อบรมปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพผู้สอนจัดการเรียนการสอนแบบเน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง    ในระบบอีเลิร์นนิ่ง ด้วยระบบจัดการการเรียนรู้ eLearning YRU LMS" โดยขออนุมัติใช้งบยุทธศาสตร์ประจำปี 2557 ของมหาวิทยาลัย เพื่อดำเนินการอบรมปฏิบัติการพัฒนาความรู้และทักษะการใช้อีเลิร์นนิ่งให้แก่อาจารย์ผู้สอนทุกคณะ และสร้างรายวิชาในระบบอีเลิร์นนิ่งอย่างน้อยแต่ละหลักสูตรอาจารย์ต้องมีรายวิชาจัดการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่งร้อยละ 50 ทั้งนี้ได้รับการสนับสนุนแนวทางการพัฒนารูปแบบการพัฒนาความรู้และทักษะโดยใช้กระบวนการวิจัยโดยมี ดร.นิมารูนี หะยีวาเงาะ อาจารย์ประจำสาขาคอมพิวเตอร์ธุรกิจ คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ซึ่งใช้ระบบที่ปรึกษา (Mentor) และผู้รับการปรึกษา (Mentee) เน้นการให้คำปรึกษาและการเรียนรู้ร่วมกันของทีม

           ผลการดำเนินงาน สามารถพัฒนาอาจารย์กลุ่มใหม่ทั้ง 4 คณะ ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร คณะวิทยาการจัดการ คณะครุศาสตร์ และคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ 
ให้มีรายวิชาสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง (http://elearning.yru.ac.th/elearning) รวม 144 วิชา จากอาจารย์ประจำของมหาวิทยาลัยทั้งหมด 256 คน คิดเป็นร้อยละ 56.25
           เดือนสิงหาคม 2557 ศูนย์คอมพิวเตอร์ย้ายสำนักงานไปยังอาคารเทคโนโลยีสารสนเทศ (ตึกไอที) ซึ่งเป็นตึก 8 ชั้น สำหรับบริการด้านคอมพิวเตอร์และศูนย์ภาษา สำนักงานศูนย์อีเลิร์นนิ่งและนวัตกรรมการเรีนนรู้โดยใช้ไอซีที จึงได้ย้ายไปบริการที่ตึกไอทีชั้น 3 บริเวณที่ห้องปฏิบัติการและห้องสืบค้น เพื่อความสะดวกในการให้บริการและการให้คำแนะนำแก่ผู้สอน และผู้เรียน รวมทั้งเป็นศูนย์แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับการอบรม การจัดการเรียนรู้โดยใช้ไอซีทีเป็นเครืองมือ

โครงการในอนาคต
การจัดการเรียนการสอนในระบบอีเลิร์นนิ่ง เป็นรูปแบบหนึ่งในการใช้ ICT สนับสนุนการเรียนรู้ โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ บทบาทและความสำคัญของกระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบอีเลิร์นนิ่ง มีงานวิจัยรองรับว่าสามารถนำไปใช้ในการเรียนการสอนได้จริง ดังนั้น ในอนาคตมหาวิทยาลัยจึงเห็นควรสนับสนุนโครงการอย่างเป็นรูปธรรมในระยะยาว รวมถึงการตั้งหน่วยงานเฉพาะรับผิดชอบโดยตรง เช่น ศูนย์วิจัยนวัตกรรมการเรียนรู้ หรือ ศูนย์เทคโนโลยีการเรียนรู้ พร้อมทั้งจัดหาบุคลากรทีเชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีภารกิจ เช่น 

        - สนับสนุนการจัดการเรียนโดยใช้อีเลิร์นนิ่งจัดการเรียนรายวิชาพื้นฐานของแต่ละคณะ
        - การวิจัยด้านเทคโนโลยีการเรียนรู้
        - สนับสนุนการผลิตสื่อการเรียนการสอนแบบอีเลิร์นิ่งคุณภาพสูง
        - จัดหารายได้ด้านการผลิตสื่อการเรียนการสอน
        - จัดการเรียนการสอนทางไกล โดยการเปิดสอนหลักสูตรแบบออนไลน์
        - การพัฒนาผู้สอนและผู้เรียนให้มีทักษะในการเรียนการสอนโดยใช้ระบบอีเลิร์นนิ่ง หรือการใช้ ICT เพื่อการเรียนการสอนในรูปแบบอื่น ๆ
        - ส่งเสริมการนำเทคโนโลยีการจัดการความรู้ (Knowledge Management: KM) มาใช้ในองค์กร